การอบสมุนไพร

        การอบสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมทีการอบสมุนไพรเป็นเพียงแต่การใช้รักษาฟื้นฟูในมารดาหลังคลอดบุตร เพื่อเป็นการอยู่ไฟหลังคลอด ขับของเสียในร่างกายออกทางผิวหนังในรูปของเหงื่อ ช่วยกระตุ้นการขับน้ำคาวปลาที่ยังตกค้างหลังการคลอดบุตร เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สดชื่น เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน การอบไอน้ำสมุนไพรมีการนำไปใช้กันอย่าแพร่หลายมากขึ้น ทั้งการอบสมุนไพรเพื่อการรักษาโรค หรืออบสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม การอบสมุนไพรสามารถทำได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย วัยที่เหมาะสมควรเป็นตั้งแต่อายุ 15 – 60 ปี(สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ หรือโรคประจำตัวใดๆ) ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหรือผู้ให้บริการก่อนการรับการอบสมุนไพรทุกครั้ง

สมุนไพรที่ใช้ในการอบสมุนไพร
ส่วนมากมักจะมีส่วนประกอบแตกต่างกันไปตามสูตรและความต้องการของผู้ใช้ โดยสมุนไพรหลักที่มักใช้บ่อยคือ 1.ผิวมะกรูด 2.ขมิ้นชัน 3.ตะไคร้ 4.ใบมะขามไทย 5. ใบส้มป่อย 6.การบูร 7.และอื่นๆ

ข้อห้าม ข้อควรระวังในการอบสมุนไพร

1. ขณะมีไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) เพราะอาจมีการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
2. โรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด
3. มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง ในรายที่มีความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท และต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท(อาจให้อบได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด)
4. สตรีขณะมีประจำเดือนร่วมกับอาการมีไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย
5. มีการอักเสบจากบาดแผลต่าง ๆ
6. อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆ
7. ปวดศีรษะชนิดเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
8. ควรอบในอุณหภูมิประมาณ 40-60องศาเซลเซส และระยะเวลา ประมาณ 10-15 นาที/ครั้ง(อาจใช้เวลานานกว่านี้ได้ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยการอบต่อเนื่อง 15 นาที ออกนั่งพัก แล้วอบต่อเป็นเวลา15 นาที ประมาณ 4 ครั้ง)

ประโยชน์ของการอบสมุนไพร

1. ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
2. ช่วยบรรเทาอาการหอบหืดเรื้อรังทำให้ปอดขยายตัวได้ดี ระบบหายใจปลอดโปร่ง มีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่อึดอัด
3. ช่วยลดความดันโลหิตสูง เพราะเส้นโลหิตจะขยายออกทำให้โลหิตไหลเวียนสะดวก ผิวพรรณจึงผุดผ่อง เปล่งปลั่ง มีเลือดฝาด
4. ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
5. ทำให้มดลูกของมารดาหลังคลอดเข้าอู่เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา ทำให้มารดาหลังคลอดสุขภาพดีขึ้น
6. ช่วยแก้อาการเหน็บชา อาการชาตามปลายเท้า ปลายนิ้วมือ แขน และขา
7. บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้น และเอ็นให้เบาบางลง จนกระทั่งเป็นปกติ
8. ลดไขมันส่วนเกินของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้อง และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

        จะเห็นได้ว่าคุณประโยชน์ในการอบสมุนไพรนั้นมีมากมาย การอบสมุนไพรจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีได้ เหมาะสมต่อผู้ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย แต่พึงอย่าลืมว่า การอบสมุนไพรไม่สามารถทดแทนการออกกำลังกายได้

บทความโดย : พท.ป.พิมพ์วิภา แพรกหา โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า